สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Thailand Volleyball Association) เป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ สำหรับบริหารกีฬาวอลเลย์บอลในประเทศไทย และเป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยรับผิดชอบในการจัดการแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอลทั้งวอลเลย์บอลในร่มและวอลเลย์บอลชายหาด รวมทั้งให้การสนับสนุนวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ทั้ง ทีมชาย และ ทีมหญิง สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ประวัติ
จากการที่ประเทศไทยได้ริเริ่มและรับเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (Southeast Asian Peninsular Games – SEAP Games หรือเซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการจัดการแข่งขัน กีฬาเซียพเกมส์ได้เลือกกีฬาวอลเลย์บอล (ประเภททีมชาย) เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาที่แข่งขัน แต่ประเทศไทยยังไม่มีสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลมารับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องมีองค์กรระดับชาติที่สมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย รับรองและต้องเป็นสมาชิกของสมาพันธ์วอลเลย์บอลเอเชีย และจะเป็นสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ โดยอัตโนมัติเพื่อให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับฯ อาจารย์แมน พลพยุหคีรี ซึ่งรู้จักกับบุคลากรในกรมพลศึกษามาก เป็นตัวหลักในการจัดตั้งสมาคม จึงได้ชักชวนคณะบุคคล รวม 7 คน ร่วมกันจัดตั้งสมาคมขึ้น ประกอบด้วย พลเอก สุรจิต จารุเศรณี นายกอง วิสุทธารมณ์ นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ นายเสรี ไตรรัตน์ นายนิคม พลสุวรรณ นายแมน พลพยุหคีรี และนายเฉลิม บุณยะสุนทร โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดตั้งสมาคมและพิจารณาร่างข้อบังคับของสมาคมขึ้น นายกอง วิสุทธารมณ์ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมให้เป็นผู้แทนดำเนินการ ได้ติดต่อขออนุญาตจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับอนุญาตให้เป็น สมาคมวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Amateur Volleyball Association of Thailand) ตามคำสั่งของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติที่ ต.11/2502 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยมี นายนาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามในใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมฯ และได้จดทะเบียนสมาคมที่กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงคเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่กีฬาวอลเลย์บอลให้เจริญรุดหน้า และดำเนินการจัดการแข่งขันวอลเลย์บอลในระบบ 6 คน
ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศใช้ข้อบังคับของสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย เป็นฉบับแรก โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหาร 7 ตำแหน่ง อยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี คณะกรรมการฯ ชุดนี้ถือเป็นคณะกรรมการบริหารชุดแรกของสมาคมฯ ประกอบด้วย
-
พลเอก สุรจิต จารุเศรณี เป็นนายกสมาคมฯ
-
นายกอง วิสุทธารมณ์ เป็นอุปนายก
-
นายแมน พลพยุหคีรี เป็นเหรัญญิก
-
นายเฉลิม บุณยะสุนทร เป็นเลขานุการ
-
นายสวัสดิ์ เลขยานนท์ เป็นกรรมการ
-
นายเสรี ไตรรัตน์ เป็นกรรมการ
-
นายนิคม พลสุวรรณ เป็นกรรมการ
ช่วง 25 ปีแรก (พ.ศ. 2502–2527)
หลังจากกีฬาแหลมทองครั้งที่ 1 สมาคมฯ มีกิจกรรมการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยระดับประชาชนเพียงรายการเดียว ปีละครั้งกับกีฬาแห่งชาติ (กีฬาเขตแห่งประเทศไทยเดิม จัดโดยองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย) ที่ทีมชาติลงแข่งขันไม่ได้เท่านั้นก่อนซีเกมส์ครั้งที่ 13 (พ.ศ. 2528) มีทีมชาติไทยไม่ได้พัฒนาเพราะได้แข่งขันในระดับนานาชาติเฉพาะกีฬาเซียพเกมส์และกีฬาซีเกมส์ (2 ปี ต่อครั้ง) กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเยาวชนชายชิงชนะเลิศแห่งเอเชียครั้งที่ 1 ที่เกาหลีใต้ และทีมชายได้ไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกครั้งที่ 5 ที่โตเกียวเท่านั้น
ตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันวอลเลย์บอลระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2502 จนถึงครั้งที่ 8 ทีมชายได้เหรียญทองเพียงครั้งเดียวในการแข่งขันครั้งที่ 1 แต่ยังได้เหรียญเงินและทองแดง ทุกครั้ง ยกเว้นครั้งที่ 5 ที่ไม่ได้ส่งแข่ง และครั้งที่ 7 ที่ไม่ได้เหรียญใดเลย ส่วนทีมหญิงมีโอกาสได้เหรียญทองในการแข่งขันครั้งที่ 4 และ 8 ซึ่งจัดการแข่งขันที่กรุงเทพฯ และในการแข่งขันครั้งอื่น ๆ ได้เหรียญเงิน หรือทองแดงทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนชื่อการแข่งขันจากกีฬาแหลมทอง (เซียพเกมส์) เป็นซีเกมส์ (Southeast Asian Games) ในการแข่งขันครั้งที่ 9 ทีมชาย-หญิง ยังคงได้หรียญทองแดงส่วนในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพทั้ง 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2509 ครั้งที่ 6 ปี พ.ศ. 2513 และ ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2521 ทีมวอลเลย์บอลไม่ประสบผลสำเร็จเพียงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพเท่านั้น
ทีมวอลเลย์บอลไทยประสบภาวะตกต่ำไม่ได้เหรียญใด ๆ เลย ถึง 3 ครั้ง ติดต่อกันตั้งแต่กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 10–12 ประกอบกับมีปัญหาด้านการบริหารสมาคม ทำให้เกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารใหม่ โดยได้เรียนเชิญ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้นเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯ
เมื่อรับตำแหน่งนายกสมาคมฯ ปลัดพิศาลฯ ได้แนะนำให้เชิญผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเข้ามาร่วมบริหารในสมาคมฯ อีกมากมาย แม้ปลัดพิศาลฯ จะมีภารกิจมาก แต่ก็ให้ความสนใจกับงานของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง
การที่สมาคมฯ มีฐานการทำงานที่แข็งแกร่งจากกระทรวงมหาดไทย ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศให้ความร่วมมือสนับสนุนวงการวอลเลย์บอล เป็นการกระจายฐานของกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยออกไปในวงกว้างทั่วประเทศ
ผู้บริหารของสมาคมฯ ในยุคต่อ ๆ มาได้ดำเนินงานตามนโยบายที่นายกฯ พิศาลฯ ให้ไว้มาโดยตลอด และสร้างโอกาสให้ผู้ฝึกสอนและนักกีฬาได้เรียนรู้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลอย่างต่อเนื่องจนผู้ฝึกสอนไทยมีความสามารถสร้างทีมแข่งขันในระดับทวีปและระดับโลก ประกอบกับสมาคมฯ มีแผนงานการปฏิบัติงานที่ชัดเจนตามปฏิทินที่กำหนดไว้ทุกปี และมีผู้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนสามารถจัดการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลก และร่วมการแข่งขันระดับทวีปและระดับโลกเป็นประจำทุกปี
คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในยุคต่อ ๆ มา ภายใต้การนำของนายกสมาคมฯ นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และนายพงศ์โพยม วาศภูติ ตลอดจนนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่ติดต่อกันมาตามลำดับ และในแต่ละยุคก็สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งภายในประเทศ ระดับทวีปและระดับโลกอย่างต่อเนื่อง
รายนามนายกสมาคม
-
สมพร ใช้บางยาง (พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน)
สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย
Thailand Volleyball Association
