top of page

10 เรื่องน่ารู้ สำหรับมือใหม่หัดชม
“วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีก” ดูยังไงไม่ให้งง

7.png

กระแสของ วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ในวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ ลีก 2023 เรียกว่าหากพลาดชม! คงคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง EP นี้ขอเปิดพื้นที่สำหรับ “มือใหม่” หรือผู้กำลังเริ่มต้นติดตามวอลเลย์บอลที่อาจมีงง ๆ ว่ารายการนี้เค้าแข่งขันกันทำไม แข่งเพื่ออะไร และมีความพิเศษอย่างไร บทความนี้จะพาไปอธิบายทำความรู้จักเงื่อนไขรายละเอียดต่าง ๆ แบบเข้าใจง่ายในหน้าเดียว มีอะไรบ้างไปชมกันเลยครับ..

1. วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ ลีก คืออะไร
Volleyball Women's Nations League ตามชื่อของมันเลยครับคือมีคำว่า League แต่เดิมรายการใหญ่สุดของโลกคือ “เวิลด์กรังด์ปรีซ์” คล้ายกับฟุตบอลโลก จัดโดยสหพันธ์วอลเลย์บอลระหว่างประเทศ FIVB มีจัดแข่งมาตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปี 2017 ต่อมามีแนวคิดกระจายไปสู่สนามต่าง ๆ ทั่วโลก จึงปรับการแข่งขันเป็น “วอลเลย์บอลเนชันส์ลีก” ในระบบ 16 ทีมแข่งเกือบพบกันหมด มีทั้งประเภทชาย-หญิง จัดครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งมีแข่งขันกันทุกปี
2. แต่ละนัด คิดคะแนนกันอย่างไร
ข้อนี้หลายคนงง เพราะคุ้นชินกับฟุตบอลที่ชนะได้ 3 คะแนน แต่วอลเลย์บอลมีระบบคิดคะแนนต่างออกไปดังนี้
  • ชนะ 3-0 , 3-1 เซต = ได้ 3 คะแนน
  • ชนะ 3-2 เซต = ได้ 2 คะแนน
  • แพ้ 2-3 เซต = ได้ 1 คะแนน
  • แพ้ 0-3 เซต , 1-3 เซต = ได้ 0 คะแนน
ชนะเหมือนกัน แต่ถ้าชนะแบบ 3-2 เซต ไม่ถือเป็นเรื่องดีเพราะหายไป 1 คะแนน ฉะนั้นแต่ละเซตมีผลกับทุกทีม
3. แข่งเก็บคะแนนกันไปทำไม
ตลอดฤดูกาลนับคะแนนสะสมไปเรื่อย ๆ จนจบทุกสนาม หากจบ 8 อันดับแรกได้แข่งรอบสุดท้าย (รอบ Final) มีศักดิ์เทียบเท่าชิงแชมป์โลก เป็นสัปดาห์สุดท้ายเพื่อหาผู้ชนะเป็นแชมป์รายการนี้ ซึ่งรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริการับเป็นเจ้าภาพ ทุกทีมต้องพยายามจบอันดับดีที่สุดเพราะมีการไขว้อันดับ 1 -เจออันดับ 8 , อันดับ 2 เจออันดับ 7 , อันดับ 3 เจออันดับ 6 และอันดับ 4 เจออันดับ 5 ในระบบน็อกเอาต์ หากลอยลำแล้วยังจำเป็นต้องทำคะแนนรักษาอันดับเพื่อเลี่ยงเจอทีมเก่งรอบไฟนอล
4. มีทีมตกชั้น
นอกจากหา 8 ทีมรอบไฟนอล วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ลีกยังมี 1 ทีมตกชั้น อันดับสุดท้ายต้องไปเล่น “แชลเลนเจอร์คัพ” (Challenger Cup) หรือให้เข้าใจง่ายก็คล้ายฟุตบอลตกชั้นจากลีกสูงสุดไปเล่นดิวิชันต่ำกว่า ส่วนแชมป์จาก Challenger Cup ซึ่งปีนี้คือโครเอเชียที่ได้ขยับขึ้นมาเล่นใน VNL นั่นเอง
5. มีจำนวน 11 ทีมได้สิทธิพิเศษ ไม่ต้องตกชั้น
เริ่มขยับมายากขึ้นอีกนิด วงการวอลเลย์บอลโลกมี 12 ชาติคือ สหรัฐอเมริกา , บราซิล , จีน , ญี่ปุ่น , เกาหลีใต้ , อิตาลี , เซอร์เบีย , ตุรกี , เยอรมนี , เนเธอร์แลนด์ , รัสเซีย และประเทศไทยของเรา ได้ร่วมบุกเบิกให้ความร่วมมือกับ FIVB จัดตั้งการแข่งขันรายนี้ขึ้นมา ได้สิทธิ์ไม่ต้องตกชั้นลงไปแชลเลนเจอร์คัพ “แม้จบอันดับสุดท้าย” แต่ต้องแลกกับเงื่อนไขบางอย่างเช่นต้องส่งทีมมาแข่งทุกปี เช่นกรณีของเราในเนชันส์ ลีก 2021 นักกีฬาในแคมป์ติดโควิดเกือบทั้งทีม จนต้องส่งชุด 7 เซียนไปแข่งขันแทน ข้อดีคือเหมือนเป็นหลักประกันให้ FIVB มั่นใจว่าอย่างน้อยยังมี 12 ทีมนี้ สามารถจัดแข่งขันได้แน่นอนทุกปี ตอนหลังรัสเซียโดนแบน 1 ทีม ทำให้เหลือ 11 ทีมที่ไม่ว่าจบอันดับสุดท้าย จะไม่ต้องตกชั้นอย่างแน่นอน โดยมีการเลื่อนลำดับถัดไปตกชั้นแทน
6. ทุกแมตช์มีผลกับอันดับโลก
ความสำคัญอีกอย่างทำให้ทุกทีมเน้นรายการนี้ “มีการคิดคะแนนอันดับโลก” ระบบการคิดคะแนนของ FIVB World Ranking ใกล้เคียงกับฟุตบอลคือมีค่าแปรผันตามอันดับโลก เช่นอันดับสูงกว่าแพ้อันดับต่ำกว่าโดน -15 คะแนน , อันดับต่ำแพ้ทีมอันดับสูง -8 คะแนน ยิ่งทีมอันดับต่ำชนะทีมอันดับสูงเท่าไหร่จะยิ่งได้คะแนนมาก อันดับโลกมีความสำคัญกับการจัดทีมวางรายการสำคัญ เช่นอันดับ 1-24 ได้สิทธิ์ไปแข่งโอลิมปิกรอบคัดเลือก 2024 ซึ่งทีมไทยของเราได้สิทธิ์เรียบร้อยแล้ว
7. รายชื่อนักกีฬาแต่ละสัปดาห์ ปรับเปลี่ยนได้ตลอด
ก่อนเริ่มฤดูกาลแข่งขัน ทั้ง 16 ชาติต้องส่งรายชื่อนักกีฬาจำนวน 30 คนให้กับทาง FIVB ในแต่ละสัปดาห์สามารถส่งแข่งขันได้ 14 คน หลังจบสัปดาห์นั้นสามารถสลับเปลี่ยนนักกีฬา 14 คนในสัปดาห์ต่อไปได้ นักกีฬายังต้องแข่งกันทำผลงานเพื่อรักษาตำแหน่งตัวจริง มีลุ้นได้ลงสนามถัดไป เช่นดาวรุ่งที่หลายคนเชียร์อย่างน้องใบเตย ณัฐธิมา กุบแก้ว หรือน้องเฟิร์น วริศรา สีทาเลิศ ก็ยังมีลุ้นขึ้นสู่ชุดใหญ่ 14 คนใน VNL ได้ตลอดเวลา
8. มี 3 ทีมไม่ได้เจอกัน
ช่วงแรกของบทความหลายคนสงสัยคำว่า “เกือบพบกันหมด” นั่นคือมี 16 ทีมเข้าแข่งขัน ใน 3 สนามจำนวน 12 แมตช์ “หายไป 3 นัด” แต่ละทีมจะไม่ได้พบกับอีก 3 ทีม เช่นไทยเราปีนี้ไม่ได้เจอกับจีน , โดมินิกัน และบัลแกเรีย อิตาลีไม่ได้แข่งกับ เซอร์เบีย , เยอรมนี และเกาหลีใต้ เพื่อให้เวลาแข่งขันไม่ยืดเยื้อจนกระทบกับช่วงเวลาแข่งขันลีกแต่ละชาติ รวมถึงรายการอื่นเช่นชิงแชมป์ทวีป , คัดเลือกโอลิมปิก หรือรายการระดับภูมิภาคเช่นอาเซียนกรังด์ปรีซ์ (ชื่อใหม่ ซีวี.ลีก SEA V.League) ซึ่งผมเองคิดว่าอนาคตน่ามีการพิจารณาปรับให้เจอกันทุกทีมไปเลย
9. อินดอร์สเตเดี้ยม คือ 1 ในสนามแข่งขัน
วอลเลย์บอลเนชันส์ ลีก 2023 จะแข่งขันกันทั้งหมด 3 สัปดาห์ เริ่มจากสนามแรกตุรกี (30 พ.ค. – 4 มิ.ย. 65) , สนามสองบราซิล (13-18 มิ.ย. 66) และสนามสามที่อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก (27 มิ.ย. - 7 ก.ค. 66) หากสาวไทยของเราทำผลงานดี คะแนนรวมทุกสัปดาห์จบ 8 อันดับแรก จะได้ไปเล่นรอบไฟนอล (12-16 ก.ค. 66) ที่สนามอาร์ลิงตัน รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ อีกไม่นานจะมีทีมระดับโลกอย่างบราซิล , แคนาดา , โครเอเชีย , อิตาลี , ญี่ปุ่น , เนเธอร์แลนด์ และตุรกี มาเยือนถึงบ้านเรา แค่คิดก็น่าตื่นเต้นแล้วครับ
10. หากมีประเทศอื่นอยากเล่นเนชันส์ลีกบ้าง ต้องทำอย่างไร
ข้อนี้หลายคนอยากรู้ สมมุติเพื่อนร่วมอาเซียนอย่างเวียดนาม , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย อยากไปเล่นเนชันส์ลีกบ้าง “ต้องทำอย่างไร” ตอนนี้ไม่ง่ายแล้วเพราะเลยจุดยุคสมัครแข่งขัน วอลเลย์บอลกลายเป็นกีฬาได้รับความนิยมติดลมบน สมมุติเวียดนามอยากมาแข่งต้องเข้าร่วมรายการแชลเลนเจอร์คัพ หรือ VCC แถมยังต้องจบด้วยตำแหน่งแชมป์เท่านั้น เช่นปีที่แล้วมีทั้งเบลเยียมที่ตกลงมาจาก VNL รวมถึงฝรั่งเศส , เช็ก และโครเอเชียที่เป็นแชมป์ได้เลื่อนขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเท่าไหร่ในการเอาชนะทีมพวกนี้จนได้แชมป์

ด้วยกระแสความนิยม มูลค่าการแข่งขันค่อนข้างสูง คิดแล้วภูมิใจกับทีมวอลเลย์บอลหญิงของเราที่ยืนสู่จุดนี้ได้ มาร่วมลุ้นให้กำลังใจนักกีฬาของเราในการแข่งขัน วอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ ลีก 2023 ทั้งปีนี้ และปีต่อ ๆ ไป รวมถึงทุกรายการที่สาวไทยลงแข่งขัน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ สร้างอรรถรสการรับชมเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยครับ 🤗 ..

bottom of page