top of page

7 เซียนวอลเลย์บอล ตำนานนักตบลูกยางสาวเจ้าเอเชีย

7 เซียนวอลเลย์บอล กับ 20 ปี แห่งเส้นทางตำนานลูกยางไทย ที่ฝากผลงานซึ่งสร้างชื่อเสียงในระดับโลก

ในห้วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเราคนไทยต่างเชียร์วอลเลย์บอลกันได้อย่างสนุก ตื่นเต้น และเร้าใจกันมากขึ้นด้วยนักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกอย่าง 7 เซียนแห่งวงการวอลเลย์บอลหญิงไทยได้แก่ “หน่อง” ปลื้มจิตร ถินขาว, “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ, “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์, “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา, “ปู” มลิกา กันทอง, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญาพงศ์ และ “นา” วรรณา บัวแก้ว 

ด้วยผลงาน 1 แชมป์เอเชี่ยนคัพ 2 แชมป์ชิงแชมป์เอเชีย และ 3 เหรียญทองในซีเกมส์ โดยนับเฉพาะตอนที่ได้เล่นรวมกัน 7 คน รวมถึงการเป็นตัวแทนจากทวีปเอเชียไปสู้ในรายการต่างๆ ล้วนคือความสำเร็จในนามทีมชาติของทั้ง 7 คน ที่ร่วมฝ่าพันอุปสรรคด้วยกันมาตั้งแต่รวมทีมตั้งไข่วางรากฐานจนถึงจุดสูงสุดในอาชีพ

ถึงแม้ความฝันสูงสุดอย่างการเข้าไปเล่นในโอลิมปิกเกมส์ จะยังทำได้เพียงแค่เฉียดไปเฉียดมา และได้เจ็บปวดเสียน้ำตาพร้อมกันไปแล้วในวันที่พ่ายแพ้ให้กับ ทีมชาติเกาหลีใต้ ในนัดชิงตั๋ว “โตเกียวเกมส์ 2020” ที่ผ่านมา

เมื่อเริ่มตั้งไข่วอลเลย์บอลหญิงไทย

ย้อนกลับไปในปี 1997 “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ตอบรับคำเชิญสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยในการรับหน้าที่ตามหานักตบลูกยางดาวรุ่งในครั้งนั้น

โค้ชอ๊อตมีแนวทางการสร้างทีมแบบ “ดรีมทีม” จากทั่วประเทศไทยมารวมตัวฝึกซ้อม กินอยู่ร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และปรับความเข้าใจภายในทีม หากใครมีแววหรือพรสวรรค์ จะถูกผลักดันขึ้นสู่ทีมชาติชุดใหญ่

เหล่า 7 เซียนมารวมตัว

ตำนาน 7 เซียนเริ่มต้นจาก 3 คนแรกคือ "นา" วรรณา บัวแก้ว จากโรงเรียนสวนกุหลาบ สมุทรปราการ, "กิ๊ฟ" วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ จากโรงเรียนสุรนารีวิทยา และ "หน่อง" ปลื้มจิตร ถินขาว จากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

นักตบดาวรุ่งทั้ง 3 ทำผลงานได้ดีในเวลานั้น และไม่นานทั้ง 3 ก็ถูกคัดเลือกเข้ามาอยู่ในกลุ่มเด็กฝีมือดีที่ได้ไปเก็บตัวในจังหวัดยะลา เพื่อเตรียมพร้อมลงแข่งในนามทีมชาติชุดเยาวชน ชุดแรกของโค้ชอ๊อต

ทีมชาติชุดเยาวชนทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจถูกใจสมาคมฯ พวกเขาประสบความสำเร็จทั้งในการแข่งขันระดับเอเชีย และในอาเซียน กวาดแชมป์มาครองได้มากมาย และ 3 ดาวรุ่ง วิลาวัณย์ วรรณา และปลื้มจิตร ก็ถูกผลักดันขึ้นไปสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่ในเวลาต่อมาทันที

คนที่ 4 คือ "แจ๊ค" อำพร หญ้าผา ดาวตบตัวเก่งจาก โรงเรียนสตรีนนทบุรี โชว์ฟอร์มอันร้อนแรงในการแข่งขันวอลเล่ย์บอลระดับมัธยม เข้าตาโค้ชอ๊อต ที่ในเวลานั้นได้ก้าวขยับไปรับตำแหน่งเฮดโค้ชทีมชาติชุดใหญ่แล้ว เรียกเข้ามาเก็บตัวฝึกซ้อมกับทีมชาติชุดใหญ่ พร้อมถูกขัดเกลาและให้คำปรึษาเป็นอย่างดีจากรุ่นพี่ในทีม

ในเวลาไล่เลี่ยกันคนที่ 5 คือ "ซาร่า" นุศรา ต้อมคำ มือเซ็ตดาวรุ่งฝีมือร้ายกาจจาก โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ที่มีดีกรีถึงทีมชาติชุดเยาวชนติดตัวมา ลือกันในหมู่รุ่นพี่ในทีมชาติหลายคนที่ได้เห็นฝีไม้ลายมือของ นุศรา ต่างยกนิ้วให้พร้อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เด็กคนนี้มีของ รับรองได้ว่าฝีมือแบบนี้เล่นทีมชาติสบาย

ในเวลานั้น เหล่าผู้เล่นตัวเก๋าในทีมชาติชุดใหญ่ก็เริ่มทยอยพากันเลิกเล่นกันไปบ้างแล้ว ทำให้โค้ชอ๊อตไม่รอช้าที่จะรีบผลักดัน นุศรา เข้ามาเปลี่ยนถ่ายสายเลือดใหม่ของทีมทันที

คนที่ 6 "อร" อรอุมา สิทธิรักษ์ รุ่นน้องที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ของนุศรา อร ต้องฮึดสู้ครอบครัวที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ถึงแม้จะผ่านการคัดตัวเข้าสู่ทีมชาติหลายต่อหลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถสานฝันตัวเองให้สำเร็จได้เสียที จนเกือบถอดใจเลิกเล่น 

อรฝึกฝนตัวเองให้หนักขึ้นกว่าเดิม ผลรับที่ได้ของความตั้งใจในครั้งนี้คือการมีชื่อติดทีมชาติไทยชุดใหญ่ ลุยศึกซีเกมส์ 2007 ที่จัดขึ้นในประเทศไทยแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง และนั่นคือเวทีแจ้งเกิดของ อรอุมา อย่างแท้จริง

และผู้เล่น 7 เซียนคนสุดท้ายคือ "ปู" มลิกา กันทอง ผู้เล่นสารพัดประโยชน์ที่สร้างชื่อมาตั้งแต่ โรงเรียนกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี 

มลิกา เข้ามาติดทีมชาติก่อน อรอุมา ไม่กี่เดือนแต่ด้วยความที่เขามีอายุน้อยกว่า อรอุมา จึงทำให้พี่ๆ ในทีมเรียก มลิกา ว่า "น้องเล็ก"

และการมาของมลิกาทำให้วอลเลย์บอลทีมชาติไทยในยุคโค้ชอ๊อตแข็งแกร่ง และครบเครื่องที่สุดในเอเชีย

ทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์
หลังจากได้ฟอร์มทีมร่วมฝึกซ้อม ลงแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ และเริ่มคลุกคลีกันเป็นเวลานาน จนเริ่มสนิทสนมเคมีเข้ากันแล้ว 7 เซียน ก็ได้ถือกำเนิดทีมวอลเลย์บอลหญิง ชุดที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ขึ้นมา

ทั้ง 7 ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาทุกสนามในนามทีมชาติไทย จากอดีตที่ถูกมองว่าเป็น “มวยรอง” ทุกรายการ แต่หลังจากปี 2009 เป็นต้นมา 7 เซียนก็ทำให้คำว่า “มวยรอง” หายไปจากวงการวอลเลย์บอลของไทย

พวกเธอไล่กวาดชัยชนะจากทีมชาติญี่ปุ่น ที่ไม่เคยเอาชนะได้เลยมาเกือบ 8 ปีได้สำเร็จในรอบรองชนะเลิศ ต่อด้วยการเข้าไปคว่ำ ทีมชาติจีน ที่ไม่เคยชนะได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ในนัดชิงชนะเลิศรายการชิงแชมป์เอเชีย ที่ประเทศเวียดนาม ปี 2009

ทุกคนก็เริ่มทยอยออกไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลีกต่างแดน จนกลายเป็นขวัญใจของแฟนวอลเลย์บอลทั้งในประเทศ และทั่วโลก 

ทุกครั้งที่เหล่า 7 เซียน กลับมารับใช้ทีมชาติไทยบัตรในรอบนั้นเต็มตลอด บรรดาแฟนรุ่นเล็กรุ่นใหญ่พร้อมสนับสนุนส่งเสียงเชียร์พวกเขาอย่างสุดแรงเกิด
2564 การอำลาที่งดงามของเหล่า 7 เซียน
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คือการลงเล่นเกมนัดสุดท้ายของเหล่า 7 เซียน กับทีมดาวรุ่งออลสตาร์ ที่คว้าชัยชนะครั้งสุดท้ายมาได้ 25-18

ซึ่งถือเป็นงานอำลาจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อขอบคุณ 7 เซียนนักวอลเลย์บอล และโค้ชอ๊อตที่ได้สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศแก่วงการวอลเลย์บอลไทยมากว่า 20 ปี

และนี่คือสุดยอดตำนานแห่งวงการนักตบหญิงไทยสมชื่อ 7 เซียนนักตบในตำนาน 7 Legends of Volleyball
200.webp
bottom of page